7 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวิ่งออกกำลังกาย
การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย สามารถปฏิบัติได้ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกระดับรายได้ สามารถช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคต่างๆ และยังช่วยให้ร่างกายกระชับ ได้สัดส่วนอีกด้วย
แต่…จะมีสักกี่คนที่เข้าใจการวิ่งแบบถูกต้องจริงๆ? เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาดูสิ่งที่เรามักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวิ่งดีกว่า
1. วอร์มอัพด้วยการยืดเส้นยืดสายอยู่กับที่ก็พอแล้ว
การยืดเส้นยืดสายก่อนการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าคุณจะเล่นกีฬาอะไร แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วย หลายคนอาจคิดว่าแค่ยืนยืดขาซ้ายขาขวาอยู่กับที่ ไม่ขยับไปไหน แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว แต่นั้นคือความเข้าใจที่ผิด การวอร์มอัพก่อนวิ่งที่ถูกต้อง คือการวอร์มอัพด้วยทวงท่าที่ต้องขยับร่างกาย โดยเฉพาะขา เช่นท่า Butt Kick High Knees หรือท่าเตะลมแบบยืดขา เป็นต้น ส่วนการยืดขานิ่งๆอยู่กับที่ ควรทำหลังวิ่งเสร็จแล้วดีกว่า
2. ต้องดื่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา(Sport Drink) ก่อนวิ่งทุกครั้ง
จริงอยู่ที่เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา หรือ Sport Drink อาจทำให้คุณรู้สึกสดชื่น กระชุ่มกระชวย มีแรงวิ่ง แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ความจำเป็นอะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณคิดจะวิ่งไม่ถึงชั่วโมง ตามปรกติแค่ดื่มน้ำเย็นๆสักหน่อยก่อนวิ่งก็เพียงพอแล้ว ส่วน Sport Drink ควรดื่มเฉพาะก่อนการวิ่งยาวๆ ที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงขึ้นไป
3. ต้องอัดอาหารประเภทแป้งแบบจัดเต็มก่อนวิ่ง
เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีหลายคนเข้าใจผิดกันมาก กับการคิดว่าควรกินอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเยอะๆก่อนลงวิ่ง แต่ความจริงแล้วคือ ถ้าคุณไม่ได้จะวิ่งนานเกิน 2 ชั่วโมง ก็ไม่ควรกิน และถึงแม้จะว่ากิน ก็ไม่ใช่กินเสร็จแล้วไปวิ่งได้เลยทันที หรือกินคืนก่อนไปวิ่งก็ไม่ได้ เพราะจะหนักท้องเกินไปแล้วจะจุกท้องขณะวิ่งได้ แต่การอัดคาร์โบไฮเดรตที่ถูกต้อง คือควรอัด 1 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันวิ่ง เพื่อสะสมไว้เป็นพลังงาน แต่ไม่ทำให้แน่นท้อง
4. ถ้าไม่วิ่งทุกวันคือไม่เวิร์ค
จริงๆแล้วถ้าคุณสามารถวิ่งออกกำลังได้ทุกวันก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าคุณไม่สะดวกจริงๆ เช่นอาจจะติดงาน หรือติดธุระสำคัญอย่างอื่น ก็ไม่เป็นอะไร วิ่งสัปดาห์ละประมาณ 3-4 วันก็ได้ และจริงๆแล้ว ในกรณีคนที่เพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ การวิ่งทุกวันอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ เพราะร่างกายใช้พลังงานมากเกินไปกับกิจกรรมที่ซ้ำๆเดิมๆ ทางที่ดี ที่จะไม่ทำให้เป็นแบบนี้ คือคุณควรออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการวิ่งด้วย เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เป็นต้น ทำสลับๆกันไป
5. ต้องเน้นทำระยะให้ได้ไกลๆเท่านั้น
คุณอาจคิดว่าถ้าวิ่งไม่ได้ไกลก็ไร้ประโยชน์ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่าการทำระยะก็คือรูปแบบการวิ่งระหว่างระหว่างนั้นต่างหาก ว่าคุณทำถูกต้องไหม ต่อให้วิ่งไกลหลายกิโล แต่ถ้าวิ่งไม่ถูกต้อง ก็ไม่เกิดผล เช่น คุณวิ่งวันละ 5 กิโลแต่วิ่งด้วยความเร็วเท่าเดิมตลอด ไม่เคยเปลี่ยน แบบนั้นไม่ดีแน่นอน ถ้าจะให้การวิ่งเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด คุณควรมีการสลับวิ่งช้า วิ่งเร็ว หรือวิ่งขึ้นเนินบ้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อและร่างกายแข็งแรงอย่างแท้จริง
6. วิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องฝึกอะไรเพิ่มเติม
ผิดถนัด! การวิ่งก็เหมือนกับกีฬาและกิจกรรมอื่นๆ ที่คุณไม่สามารถมุ่งไปที่ตัวกิจกรรมอย่างเดียวได้โดยไม่ฝึกอื่นๆเพิ่มเติมเลย ยกตัวอย่างเช่น การยิงธนูก็ต้องไปฝึกกำลังแขนเพิ่มเติม อาจจะด้วยการเข้าฟิตเนส หรืออะไรก็ได้ เพราะจะได้ยกคันธนูได้อย่างมั่นคง ไม่เมื่อยง่าย หรืออย่างฟุตบอล ก่อนจะเข้าแข่งเป็นทีม ก็ต้องมีการฝึกการเลี้ยงลูก และทักษะยิบๆย่อยๆอื่นๆอีกเพียบ เพื่อที่เวลาเล่นจริงจะได้ตามทีมฝ่ายตรงข้ามทัน การวิ่งก็เช่นกัน ถ้าคุณอยากวิ่งให้ได้นานๆ วิ่งดีๆ วิ่งแล้วเกิดประสิทธิภาพ คุณก็ต้องไปฝึกทักษะอื่นๆเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะความแข็งแรงของขา คุณอาจจะฝึกด้วยการวิ่งขึ้นลงทางชั้น อย่างเช่นบันไดก็ได้ จะช่วยเพิ่มพละกำลังให้กับขาของคุณ
7. ความบ้าบิ่นคือกุญแจ
อะไรที่เราทำอย่างจริงจังย่อมเป็นเรื่องดี การวิ่งก็เช่นกัน หมั่นฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม หมั่นวิ่งอยู่เป็นประจำ สักวันคุณก็ต้องเก่งขึ้น แต่…อะไรที่สุดโต่งเกินไป แทนที่จะดี มันกลับจะแย่แทน ถ้าหากคุณจริงจังกับการวิ่งเกินเหตุ ถึงขั้นที่ว่าแทบไม่เป็นอันทำอะไร จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เช่น เดิมทีคุณจัดตารางฝึกวิ่งไว้วันนี้เวลานี้ แต่สุดท้ายคุณป่วยเป็นไข้ ปวดหัว ไม่มีแรงเสียก่อน แต่คุณก็ไม่ยอม ยังฝืนร่างกายออกไปฝึกวิ่ง หรือไม่ก็ตั้งใจว่าสุดสัปดาห์จะออกไปวิ่ง แต่ดันมีงานด่วนที่บริษัทเข้ามา คุณก็กลับทิ้งงานแล้วมาฝึกวิ่งเอาเฉยๆ แบบนั้นไม่ดีแน่นอน ฝึกแต่พอประมาณ พยายามจัดสรรเวลาให้ดีที่สุด แต่ถ้าหากมีเหตุจำเป็นอะไรก็ผัดผ่อนไปบ้างก็ได้ ไม่ต้องฟิ๊กตาราง ไม่ต้องกดดันตัวเองจนเกินเหตุ
รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าลืมเอาไปปรับใช้กันนะ แล้วการวิ่งจะทำให้ชีวิตและสุขภาพคุณดี๊ดีขึ้นแน่นอน